ประวัติสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ของเรามีประวัติศาตร์ที่ยาวนานและน่าสนใจ

  • พ.ศ. 2468

    กำเนิดในต่างแดน

    “เริ่มก่อตั้งในต่างแดน นักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ กลุ่มหนึ่งที่ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จำนวน 58 คน ได้ก่อตั้งสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ขึ้น และเริ่มทยอยเดินทางกลับประเทศไทย”

    เนื่องจากนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ทุกคนมีความรักหมู่รักคณะ แต่เมื่อออกจากโรงเรียนไปแล้วต่างคนก็แยกย้ายกันออกไปประกอบอาชีพ ไม่ค่อยมีเวลาพบปะสนทนากัน นานๆ วันเข้าก็จะลืมและจำกันไม่ได้ บางท่านก็เรียนต่างรุ่นกันด้วย ก็เลยไม่รู้จักกันเสียเลย ไม่มีโอกาสจะแสดงความรักหมู่รักคณะได้อย่างเต็มที่ จึงมีนักเรียนเก่าหลายรุ่นนัดให้มีการพบปะสนทนาและรับประทานอาหารร่วมกันในวันใดวันหนึ่งของทุกๆ ต้นปี เป็นการแสดงออกซึ่งความรักหมู่รักคณะเท่าที่พึงจะทำได้

    พวกนักเรียนเก่าต่างคิดกันว่า การสโมสรซึ่งต่างรุ่นต่างก็แยกกันทำ ควรจะรวมกันเสียในวาระเดียว จะเป็นการแสดงความรักหมู่รักคณะให้ประเสริฐยิ่งขึ้น และจะทำดั่งนี้ได้ก็ต้องคิดอ่านตั้งสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ขึ้นเท่านั้น

    ได้มีนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์กลุ่มหนึ่งจำนวน 58 คน ซึ่งได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ดังมีราย พระนาม และนาม ตัวอย่างเช่น

    1. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต

    3. นายทวีสวัสดิ์ บุญ-หลง
    4. ม.ล.ชูชาติ กำภู
    14. ม.ล.ชิดเชื้อ กำภู
    20. ม.ร.ว.ทองเถา ทองแถม
    25. นายเสวียน โอสถานุเคราะห์
    27. นายจรัส บุนนาค
    30. นายกำธร เทพหัสดิน ณ อยุธยา
    33. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
    37. นายโชติ คุณะเกษม
    51. ม.ล.กรี เดชาติวงศ์
    54. พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
    58. นายจริง บุนนาค

    นักเรียนเก่าเทพศิรินทร์จำนวน 58 คน ดังกล่าวได้เริ่มพบปะหารือกันในประเทศอังกฤษหลายครั้ง ซึ่งในที่สุดก็ได้มีมติให้ตั้งสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2468 โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร เป็นสภานายกสมาคม ม.ล.ชูชาติ กำภู เป็นเหรัญญิก หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์) เป็นเลขานุการ

    พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร องค์สภานายกสมาคมฯ ทรงเห็นว่าเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นตลอดไปในอนาคต จึงได้ทรงมีพระอักษร เขียนด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์เอง เรียนมายัง พระยาจรัลชวนะเพท อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนเทพศิรินทร์ในสมัยนั้น เพื่อเป็นการแสดงคารวะและขอความถูกต้องต่อท่าน อาจารย์ผู้รับผิดชอบโรงเรียนเทพศิรินทร์ในสมัยนั้นด้วย

    และได้ลงท้ายเป็น ป.ล. ไว้ว่า “เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ 33 คน ได้รับประทานอาหารร่วมกัน และส่งความคิดถึงมายังโรงเรียนด้วย ต่อไปนี้ สมาคมได้คิดสีของสมาคมขึ้น ดังที่ข้าพเจ้าแนบไปในจดหมายนี้ สีเหลืองกับสีเขียวนั้น เป็นสีดอกกระบอก (ปัจจุบัน) เรียก “ดอกรำเพย” พื้นน้ำ แต่นั้นมีไว้เพื่อมิให้สีฉูดฉาดเกินไป ขอให้โรงเรียนอนุญาตให้ใช้ได้” (เป็นการคัดลอกภาษาตามต้นฉบับ)

  • พ.ศ. 2474

    กลับสู่มาตุภูมิ

    “ความปรารถนา ที่จะรวบรวมพวกพ้อง นักเรียนเก่าที่กระจัดกระจายกันอยู่ ให้ได้กลับมาพบเจอกัน จึงมีการประชุม ปรึกษาหาลู่ทาง ทำโครงการขอก่อตั้งสมาคม และจัดทำข้อบังคับโดยครั้งหลังสุดมีสมาชิกมาเข้าร่วม 170 คน ที่วังสวนกุหลาบ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2474”

    ในช่วงเวลาที่กลุ่มนักเรียนเก่ารวมตัวกันขึ้นที่ต่างประเทศแล้ว ในประเทศไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวไม่ต่างกัน

    นักเรียนเก่าที่อยู่ในประเทศไทยอยากมีสิ่งของเพื่อไว้ระลึกถึงโรงเรียน และมิตรสหายที่ร่วมสถานศึกษาเดียวกัน จึงได้มีการขออนุญาตโรงเรียนคิด “เครื่องหมายนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์” ขึ้น ซึ่งที่ประชุมครูเห็นพ้องในการจัดทำ โดยได้หารือไปยังกระทรวงธรรมการ และทางกระทรวงก็เห็นชอบด้วย เครื่องหมายนี้ได้รับพระอนุญาตจากสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ให้ใช้ตราเครื่องหมายสามารถของโรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ในเครื่องหมาย ใช้เครื่องหมายนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2470 (ตั้งกติกาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2470)

    นักเรียนเก่าในประเทศไทยต่างคิดเห็นกันว่าถ้ามีสโมสรรวมกันทุกรุ่นแล้ว “คงจะเป็นการแสดง esprit de corps ได้ประเสริฐยิ่ง” จะทำได้ดังนี้ก็ต้องตั้งสมาคมนักเรียนเก่าขึ้นเท่านั้น จึงได้จัดการนัดประชุมผู้แทนนักเรียนรุ่นต่างๆ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2472 ที่ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา มีผู้ร่วมการประชุมราว 20 คนเศษ มีการตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่งในที่ประชุม แต่ด้วยกำลังกายและกำลังทรัพย์ทำให้อีกสองเดือนต่อมาไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ต่อมาราวกลางปี พ.ศ.2473 มีความเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง โดยสมาชิกคณะเดิมบ้าง นักเรียนเก่าท่านใหม่บ้าง ประมาณ 10 คน นัดประชุมกันในเวลากลางคืนที่ห้องวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่ผลของการประชุมครั้งนี้ก็ยังไม่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างที่สำเร็จขึ้น

    แต่ความตั้งใจของคณะนักเรียนเก่าได้ฟื้นตัวขึ้นในปลายปีนั้นเองด้วยการวิ่งเต้นของสมาชิกบางท่าน การประชุมเพื่อดำริตั้งสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ได้เกิดขึ้นอีกที่โฮเต็ลวังพญาไท เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2474 มีผู้เข้าร่วมราว 50 คน มีพระเจ้าวรวงศ์เธอฯ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต ผู้ก่อตั้งสมาคมขึ้นที่ประเทศอังกฤษเป็นประธาน ทำให้โครงการของสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ถูกประดิษฐ์ขึ้นในการประชุมครั้งนี้

    หลังจากสมาคมฯ ได้ก่อกำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษ บรรดาผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ ในประเทศอังกฤษก็เริ่มทยอยกันเดินทางกลับประเทศไทย เพราะครบวาระหน้าที่บ้าง สำเร็จการศึกษาบ้าง ความปรารถนาที่จะได้รวมพวกรวมพ้องที่กระจัดกระจายกันอยู่ ให้ได้มาสมัครสมานสามัคคี ทำให้นักเรียนเก่าเทพศิรินทร์กลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันถึง 427 คน ครั้งหลังสุดได้มีสมาชิกประมาณ 170 คน เข้าร่วมประชุม ณ วังสวนกุลาบ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2474 ได้พิจารณาและรับรองข้อบังคับสมาคม เลือกตั้งกรรมการของสมาคมฯ คือ

    1.พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต ดำรงตำแหน่งสภานายก
    2.พระยาปรีชานุสรณ์ เป็นอุปนายก
    3.นายทวีศักดิ์ วิริยศิริ เป็นเลขานุการกิตติมศักดิ์
    4.นายเทียนเซิ้ยง (เทียนสถิตย์) กรรณสูต เป็นเหรัญญิกกิตติมศักดิ์
    5.พระสุทัศน์พงษ์พิสุทธิ์ เป็นปฎิคม
    6.นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ
    7.พระยา จรัลชวนะเพท (ในฐานะอาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนเทพศิรินทร์) เป็นกรรมการ

    บัดนี้สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ได้อุบัติขึ้นในมาตุภูมิไทย ในบ้านเมืองของเราเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว อันนับเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความเติบใหญ่ต่อไป ในอนาคตอย่างไม่มีวันเสื่อมสูญ (โดยสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อ 26 สิงหาคม พ.ศ.2474)

  • พ.ศ. 2475

    เอกกษัตริย์อัฐมราชทรงอุปถัมภ์

    “หลังจากวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้นำความกราบบังคมทูล ขอพระราชทานที่ดิน เป็นที่ตั้งของสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ณ. บริเวณติดถนนราชดำริ พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้ารับสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินท์ไว้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ใช้ที่ดิน และให้เช่า อันเป็นที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยให้คิดค่าเช่าปีละ 1.00 บาท ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 6 ไร่ 24 ตารางวา”

    นักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ที่เราจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล หรือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ในปี พ.ศ. 2475 เลขประจำพระองค์ 2329

    ในปี พ.ศ.2480 พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมฯ ในสมัยนั้น ได้นำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเพื่อขอพระราชทานที่ดิน ให้เป็นที่ตั้งของสมาคมนักเรียนเก่า ซึ่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ได้มีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าพระราชทานที่ดินติดถนนราชดำริที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (สำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน) ให้สมาคมฯ เช่าเพื่อใช้ประโยชน์ …จากนั้นนักเรียนเก่าได้ร่วมกันจัดหาทุนในการก่อสร้างสมาคมจนแล้วเสร็จ เปิดใช้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2480

    ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 3,000 บาท เพื่อเป็นทุนก่อสร้างสโมสรเริ่มแรกด้วย

    นับว่าสมาคมฯ มีโชคอันมหาศาล และเกียรติยศสูงสุด ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากองค์พระประมุขของชาติเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และได้มีพระมหากรุณาธิคุณทรงรับสมาคมนี้เข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2480

    เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2480 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาทรงเปิดที่ทำการสมาคม นักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ภายใต้พระปรมาภิไธย ในครั้งนี้มีกระแสรับสั่งตอนหนึ่งว่า

    “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้จะจากโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ไปนานปีก็ตามแต่ ยังหาได้ทรงลืมโรงเรียนซึ่งเป็นสำนักเดิมของพระองค์ไม่ ด้วยเหตุนี้เมื่อสมาคมขอพระราชทานพระมหากรุณาไป จึงมิได้ทรงยับยั้งหรือลังเลพระราชหฤทัยในการพระราชทานแต่ประการใดเลย”

  • พ.ศ. 2476
    สังสรรค์ฉันพี่น้อง

    ภายหลังสมาคมนักเรียนเก่าฯ ได้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2474 ณ วังสวนกุลาบ คณะกรรมการสมาคมโดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต ดำรงตำแหน่งสภานายก มีดำริที่จะกำหนดวันที่ระลึกเทพศิรินทร์ขึ้น จึงได้เลือกวันที่ 9 พฤษภาคม เป็น “วันสโมสรสันนิบาต” ประจำปีของสมาคม และวันที่ 9 พฤษภาคม นี้เป็นวาระดิถีคล้ายวันเกิดของหม่อมแม้น ภาณุพันธ์ ณ อยุธยา อีกด้วย ในระยะแรก ทุกๆ วันที่ 9 พฤษภาคม สมาคมจึงได้จัดให้มีงานสโมสรสันนิบาตขึ้น (ไม่นับงานเลี้ยงสังสรรค์ย่อยของกลุ่มนักเรียนเก่าหลายๆ ท่าน) โดยมักจะใช้วังสวนกุหลาบ (ถนนนครราชสีมา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร) เป็นสถานที่จัดงาน เนื่องจากพระเจ้าวรวงศ์เธอฯ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต ทรงรับเป็นพระธุระและประทานพระอนุญาตให้ใช้วังของพระองค์เป็นที่ชุมนุม

    สองปีต่อมา คณะกรรมการสมาคมได้จัดงาน “สโมสรสันนิบาต” ขึ้นเป็นครั้งใหญ่ ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2476 ได้เลือกพื้นที่สนามของโรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นสถานที่จัดงาน ในครั้งนี้ มีนักเรียนเก่าสามท่านช่วยกันตั้งชื่องานขึ้นเป็นการเฉพาะ ได้แก่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) และอุดม ชาตบุตร (ผู้ริเริ่มก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชามิตร – สุภาพบุรุษ อดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่าฯ) โดยชื่อที่นักเรียนเก่าคนสำคัญของชาติทั้งสามท่านนี้ได้ตั้งขึ้นก็คือ “ชื่นชุมนุม” นั่นเอง นับว่าเป็นครั้งแรกที่งานชื่นชุมนุมได้ถูกจัดขึ้นและได้ใช้ชื่อนี้เป็นครั้งแรกในงานสโมสรสันนิบาตของนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ และงานชื่นชุมนุมนี้ ยังถูกจัดขึ้นในทุกปีจวบจนปัจจุบัน

    ตลอดระยะเวลา 88 ปี มานี้ งานสังสรรค์งานใหญ่ๆ ของสมาคมนักเรียนเก่าฯ ยังถูกจัดขึ้นมาอีกหลายครั้ง เท่าที่มีการสืบค้นประวัติพบว่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ เคยจัดงานสังสรรค์ร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าฯ จำนวน 6 ครั้งใหญ่ๆ ได้แก่

    1. งานฉลองอายุ 50 ปี เมื่อวันที่ 21 และ 22 กุมภาพันธ์ 2496
    2. งานฉลองอายุ 60 ปี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2506
    3. งานฉลองอายุ 100 ปี โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2528
    4. งานฉลองอายุ 108 ปี โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2536
    5. งานชื่นชุมนุม 120 ปี สถาปนาโรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2548
    6. งาน 130 ปี เทพศิรินทร์ เกียรติระบิลระบือนาม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558

    อีกงานที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นคืองาน “ศุกร์ต้นเดือน” หลังปีพ.ศ.2500 เป็นต้นมา นักเรียนเก่าหลายท่านได้รวมตัวกันจัดงานเลี้ยงสังสรรค์กันเป็นประจำ ในหนึ่งเดือนมีงานเลี้ยงเกิดขึ้นที่อาคารสมาคมหลายครั้ง เป็นงานเลี้ยงเฉพาะของนักเรียนเก่าแต่ละรุ่น

    ต่อมา ในราวช่วงปีพ.ศ.2520 – 2530 สมาคมนักเรียนเก่าฯ จำเป็นต้องระดมทุนในการดำเนินนโยบายสนับสนุนโรงเรียนเทพศิรินทร์ที่ได้ตั้งขึ้น รวมทั้งมีโครงการปรับปรุงอาคารสมาคมหลังใหม่อีกด้วย คณะกรรมการสมาคมในสมัยนั้นจึงได้รองขอไปยังผู้แทนประจำรุ่นที่มีความประสงค์จะจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ขึ้น ให้รวมกันจัดงานเพียง 1 ครั้งต่อเดือน โดยไม่ต้องกำหนดว่าเป็นงานเลี้ยงของรุ่นใดรุ่นหนึ่ง ห้องใดห้องหนึ่งโดยเฉพาะ นอกจากจะเป็นการลดงบประมาณแล้ว ยังเป็นการสร้างความรู้จักกันระหว่างพี่น้องต่างรุ่นอีกด้วย ทั้งนี้ได้กำหนดให้วันจัดงานเป็นวันศุกร์แรกของแต่ละเดือน งาน “ศุกร์ต้นเดือน” จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในสมัยนี้

  • พ.ศ. 2506 – 2508

    สโมสรสถาน

    “นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ เป็นนายกสมาคมได้ร่วมมือกับสมาชิกจัดสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้น เมื่อปี 2508 เมื่อเสร็จคณะกรรมการได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จเปิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2509”

    ก่อนที่สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะได้รับพระราชทานให้เช่าที่ดินบริเวณถนนราชดำริ มีการใช้สถานที่ต่างๆ ในการทำงานของสมาคม เช่น ในช่วงเริ่มต้น

    ของสมาคมได้ยึดถือกันว่าพื้นที่ของโรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นสำนักงานกลางของสมาคม แต่ด้วยความไม่สะดวกทั้งการเดินทางและพื้นที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต นายกสมาคมฯ ได้อนุญาตให้ใช้วังสวนกุหลาบของท่านเป็นที่ชุมนุม และประชุมปรึกษาหารือกิจการสมาคม

    เมื่อเจ้าคุณปรีชานุศาสน์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ จึงได้ย้ายมาทำการประชุมคณะกรรมการกันที่โรงเรียนวชิราวุธ เนื่องจากท่านเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ที่โรงเรียนวชิราวุธในขณะนั้น และเมื่อเจ้าคุณนิติศาสตร์ไพศาลย์ มาจนถึงเจ้าคุณสฤษดิการบรรจง เป็นนายกสมาคมฯ ได้ทำการประชุมกันที่บ้านของนายเทียนเซี้ยง กรรณสูตร เป็นต้น

    จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2480 พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมฯ ในสมัยนั้น ได้นำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเพื่อขอพระราชทานเช่าที่ดิน ให้เป็นที่ตั้งของสมาคมนักเรียนเก่า ซึ่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ได้มีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าพระราชทานที่ดินติดถนนราชดำริ จากนั้นนักเรียนเก่าได้ร่วมกันจัดหาทุนในการก่อสร้างสมาคมจนแล้วเสร็จ เปิดใช้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 3,000 บาท เพื่อเป็นทุนก่อสร้างสโมสรเริ่มแรกด้วย

    อาคารสมาคมนักเรียนเก่าฯ หลังแรกเป็นอาคารชั้นเดียว เมื่อสมาชิกเพิ่มมากขึ้นก็เริ่มคับแคบลง ภายหลังเกิดประสบภัยจากสงครามมหาเอเชียบูรพาอาคารสมาคมหลังแรกก็ไม่สามารถใช้งานได้อีก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2506 – 2508 สมัยที่นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ เป็นนายกสมาคมฯ ได้รับความร่วมมือกับสมาชิกจัดสร้างอาคารหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น ราคาประมาณ 420,822 บาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จเปิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509

    ในช่วงปี พ.ศ. 2525 – 2529 สมัย พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์ และพล.อ.อ.จรรยา สุคนธทรัพย์ เป็นนายกสมาคมฯ มีอาคารพาณิชย์เกิดขึ้นมากมายบนถนนราชดำริ สมาคมจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุงอาคารสมาคม จึงได้เริ่มแผนงานพัฒนาที่ดิน ชื่อโครงการว่า “โครงการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างอาคารสมาคม พ.ศ.2534” ต่อมาเป็นโครงการ “โครงการรอยัลราชดำริ” แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และด้วยเหตุผลบางประการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เห็นว่าสมาคมผิดสัญญาจึงให้คืนที่ดินไป

    เมื่อนายจีระ หงส์ลดารมภ์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2548 – 2550 ได้มีมติของสมาคมให้ทำฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และด้วยพระมหากรุณาธิคุณฯ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงให้สมาคมมีสิทธิ์เจรจากับผู้รับสัมปทานรายใหม่ นั่นคือบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ภายใต้โครงการมิกซ์ยูสระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ เงินลงทุนรวมมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท โดยสามารถเจรจาให้สมาคมมีพื้นที่ 3 ชั้น มีระยะเวลาในการเป็นเจ้าของ 30 ปีโดยที่ทำการของสมาคมฯ ใช้พื้นที่เพียง 1 ใน 3 อีก 2 ส่วนที่เหลือ สมาคมฯ ดำเนินการหารายได้โดยให้มีผู้มาเช่า เก็บค่าเช่าเป็นเงินที่จะดำเนินการของสมาคมต่อไป

    ปัจจุบันที่ทำการสมาคมฯ จึงตั้งอยู่ที่ 151/1 อาคารแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด ชั้น 3 ถนนราชด าริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2560 โดยนักเรียนเก่ารวมถึงนักเรียนปัจจุบันทุกท่าน สามารถเข้าไปใช้งานได้ มีรายละเอียดดังนี้

    1. ห้องจัดเลี้ยงและประชุม (รำเพย 1) 195 ตร.ม.
    2. ห้องจัดเลี้ยงและประชุมแบ่ง 65 ตร.ม.
    3. ห้องจัดเลี้ยงและประชุมแบ่ง (ด้านหน้ามองเห็นถนนราชดำริ) 130 ตร.ม.
    4. ห้องประชุม (พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์) 115 ตร.ม.
    5. ห้องประชุม (รำเพย 2) 22 ตร.ม.
    6. ห้องประชุม (รำเพย 3) 10 ตร.ม.

    ซึ่งนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์สามารถใช้ห้องประชุม และบริการได้ตามระเบียบสมาคมฯ ได้ โดยให้มีการสนับสนุนค่าไฟฟ้าและน้ำประปาตามกำลัง